พายุ
สตอมเสิร์ท (Storm Surge) หรือคลื่นพายุซัดฝั่งเริ่มเป็นที่สนใจของประชาชนทั่วไปเมื่อมีการทำนายว่า มันอาจจะเกิดขึ้นกับเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพมหานครที่ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียงแค่ 1 เมตร สตอมเสิร์ท เป็นคลื่นยักษ์ที่ถาโถมเข้าซัดชายฝั่งมีลักษณะที่เหมือนกับคลื่นยักษ์สึนามิจะต่างกันก็เพียง สึนามิคือแรงกระเพื่อมของคลื่นยักษ์ ที่เกิดจากแผ่นดินไหวในขณะที่สตอมเสิร์ทเกิดขึ้นพร้อมกับพายุ แล้วเคลื่อนเข้าซัดฝั่งอย่างรุนแรง
สตอมเสิร์ท(Storm Surge) มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Tidal Surge เป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นพร้อมกับกับพายุหมุนที่มีลมรุนแรง โดยพายุ จะเกิดขึ้นได้โดย การที่ทะเลและบริเวณใกล้เคียงมีหย่อมความกดอากาศที่แตกต่างกัน โดยพายุหมุนจะเกิดในบริเวณที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำ (Low Pressure Area) ซึ่งเกิดจาก บริเวณพื้นผิวโลกมีความชื้นสูงและมีมวลอากาศอุ่น ทำให้อากาศลอยตัวสูงขึ้น ทำให้เกิดลมพัดเข้ามาหย่อมความกดอากาศต่ำ และเกิดการหมุนตัว เข้าหาจุดศุนย์กลางของหย่อมความกดอากาศต่ำ โดยในซีกโลกเหนือหรือบริเวณเหนือเส้นศูนย์สูตรจะมีการหมุนตัวในทิศทวนเข็มนาฬิกา แต่หากเกิดในซีกโลกใต้หรือบริเวณใต้เส้นศูนย์สูตรจะหมุนตามเข็มนาฬิกา สตอมเสิร์ทจะดันน้ำให้มีระดับสูงขึ้นโดยรอบโดยจะมีลักษณะราบเรียบเท่ากันหมดให้บริเวณพายุแต่ตรงใจกลางพายุหรือที่เรียกว่าตาพายุจะมีระดับน้ำที่สูงกว่าปรกติ
ลมพายุหมุนนั้นนอกจากจะแบ่งระดับความแรงเป็น 3 แบบ คือ
พายุดีเปรสชั่น มีความเร็วลมที่ศูนย์กลางน้อยกว่า 62 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุโซนร้อน มีความเร็วลมที่ศูนย์กลาง 70 - 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
พายุไต้ฝุ่น มีความเร็วลมที่ศูนย์กลางมากกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แล้วยังแบ่งตาม บริเวณพื้นที่ที่เกิดลมพายุ
1. พายุเฮอร์ริเคน (hurricane) เป็นชื่อเรียกพายุหมุนที่เกิดบริเวณทิศตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เช่น สหรัฐอเมริกา ทะเลแคริบเบียน บริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก เป็นต้น
2. พายุไต้ฝุ่น (typhoon) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น อ่าวไทย บริเวณทะเลจีนใต้ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
3. พายุไซโคลน (cyclone) เป็นชื่อพายุหมุนที่เกิดในมหาสมุทรอินเดีย เหนือ เช่น บริเวณอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ เป็นต้น
ลมพายุจะทำให้ระดับน้ำที่เกิดจากแรงของลมพายุมากน้อยนั้นมีอิทธิพลอยู่ 5 ประการ
1 .อิทธิพลความกดอากาศ ความกดอากาศสามารถทำให้ระดับน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้นในบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ โดยระดับน้ำจะยกตัวสูงขึ้นประมาณ 10 มิลลิเมตรต่อ ความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป 1 มิลลิบาร์
2. อิทธิพลโดยตรงจากลมพายุ ความสูงชันของลมพายุส่งผลต่อความรุนแรงของพื้นที่ผิวลม หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปรากฏการณ์ Ekman Spiral คือระดับน้ำจะยกตัวเพิ่มขึ้นในทิศเดียวกับกระแสลมที่พัดเข้าฝั่ง
3.อิทธิพลของการหมุนตัวของโลก เมื่อเกิดขึ้นคลื่นขึ้นบริเวณซีกโลกเหนือจะทำให้คลื่นเบี่ยงโค้งไปทางขวาของซีกโลกเหนือในขณะที่คลื่นเกิดในซีกโลกใต้คลื่นจะเบี่ยงโค้งไปทางซ้าย และเมื่อโลกเราหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็จะส่งผลให้เพิ่มระดับความสูงคลื่นขึ้นเมื่อคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง และลดระดับความรุนแรงลงเมื่อคลื่นหมุนโค้งออกจากชายฝั่ง
4.อิทธิพลของคลื่น เมื่อเกิดลมพายุ ลมพายุจะยกระดับคลื่นให้ใหญ่และมีทิศทาง เดียวกับการเคลื่อนที่ของลมพายุ โดยส่งผลให้คลื่นมีระดับความรุนแรงขึ้นเมื่อขึ้นสูงฝั่ง
5.อิทธิพลของปริมาณน้ำฝนที่ตก ปริมาณน้ำฝนที่ตกจะมีผลอย่างมากในบริเวณปากแม่น้ำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นออกมากในบริเวณดังกล่าวเมื่อคลื่นจากมหาสมุทรมารวมตัวกันกับน้ำจำนวนมากที่บริเวณปากแม่น้ำก่อนจะซัดเข้าสูฝั่ง
สตอมเสิร์ทในไทย
ผลที่ตามมาเมื่อ มีสตอมเสิร์ทหรือคลื่นพายุซัดฝั่งคือความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งชีวิตและทรัพย์สินในบริเวณชายฝั่ง และในบางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายถึงขั้นเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์แถบนั้นไปเลย ภาพที่เห็นชัดที่สุดที่เคยเกิดในประเทศคือเมื่อคราวเกิดพายุ โซนร้อนแฮเรียต พัดเข้าฝั่งที่ แหลมตะลุมพุก อ. ปากพนัง จ. นครศรีธรรมราชในปีพ.ศ. 2505 แม้จะมีระดับความแรงของลมเป็นแค่ พายุโซนร้อนเมื่อเมื่อพัดเข้าหาฝั่งความรุนแรงได้เพิ่มระดับเป็นพายุไต้ฝุ่นและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ผลของความพินาศจากพายุคราวนั้นถือว่าเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่จากภัยธรรมชาติของประเทศไทยเลยทีเดียวผู้เฒ่าผู้แก่เล่าในบ้านแหลมตะลุมพุกขานกันสืบต่อมาว่าพายุในครั้งนั้น มีคลื่นสูงเทียมยอดมะพร้าว โดยผู้ที่รอดชีวิต หลายรายได้ เกาะยอดมะพร้าวโหนโตงเตงเมื่อพายุและสตอมเสิร์ทวิ่งถลาเข้าหาฝั่ง ทำให้เกิดเป็นโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ของไทย ความรุนแรงเกิดขึ้นถึงขั้น ถึงจมโบถส์ทั้งหลังให้จมลงใต้ท้องมหาสมุทร และทิ้งไว้แค่ร่องรอยของความย่อยยับของชุมชมชาวบ้านแหลมตะลุมพุก คำพูดที่เล่าลือเล่าอ้างมาจากผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่คงไม่เกินเลยมามายนักเพราะ จากหลักฐานจาก พบว่า พายุหมุนเขตโซนร้อนแฮเรียต มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 300 กิโลเมตร มีความเร็วลม 180 - 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วในการเคลื่อนที่ 92.622 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีผู้เสียชีวิต 911 คน สูญหายอีก 142 คน บาดเจ็บสาหัส 252 คน บ้านเรือนเสียหายเฉียดครึ่งแสนหลังคาเรือน และส่งผลให้ประชาชน ไม่มีที่อยู่อาศัยอีกกว่าหมื่นคน พายุโซนร้อนแฮเรียดได้สร้างความเสียหายให้กับภาคใต้ แนวชายฝั่งตะวันออกมากถึง 9 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบในโศกนาฎกรรมครั้งนั้น
หรือเมื่อคราวที่พายุเกย์ซัดเข้าหาฝั่งจังหวัดชุมพรในปีพ.ศ. 2532 ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เรารับรู้ถึงภยันตรายของ คลื่นพายุซัดฝั่งหรือสตอมเสิร์ท หรือในปีพ.ศ. 2540 พายุลินดา พัดถล่มชายฝั่งของชุมพร – เพชรบุรีก็เช่นกัน หล่านี้คือความพิโรจที่เกิดจากภัยธรรมชาติที่เรียกว่าสตอมเสิร์ท
สำหรับกรุงเทพมหานครเองไม่เคยได้รับอันตรายจากสตอมเสิร์ทโดยตรง ด้วยสภาพภูมิประเทศ มีทะเลชายฝั่งน้อย แต่ผลกระทบที่กรุงเทพมหานครได้รับมักจะเป็นระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเกิดพายุ ในบริเวณอ่าวไทย เช่นในคราวที่เกิดน้ำท่วมหนักในปี 2504
สภาพทางภูมิศาสตร์ของอ่าวไทยตอนบน ไม่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสตอมเสิร์ทครั้งรุนแรงเท่าใดนักเนื่องจากอ่าวไทยตอนบนมักจะมีพายุที่ไม่รุนแรกมากนักโดยมักจะมีความเร็วลมน้อยกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
โดยหากเกิดสตอมเสิร์ทขึ้นในพื้นที่บริเวณกรุงเทพจริงๆก็จะส่งพบกระทบแต่เพียงบางส่วนเท่านั้น ในบริเวณเขตบางนา ธนบุรี ในบริเวณชายฝั่งบางขุนเทียน – คลองสนามชัยและ บริเวณ ช่วงเหนือคลองสนามชัย ถึง ถ.พระราม 2
สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยของไทยคือ ตลอดแนวชายฝั่งของภาคใต้ตะวันออก คือชุมพร-สงขลา แต่ในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันเมื่อเกิดลมพายุขึ้น มักจะเป็นลมพายุที่เคลื่อนตัวออกจากฝั่งทำให้ได้รับผลกระทบจากสตอมเสิร์ทน้อยกว่าฝั่งอ่าวไทย
การรับมือสตอมเสิร์ท
การป้องกันความรุนแรงของสตอมเสิร์ท สามารถทำได้โดย ส่วนแนวทางการลดพิบัติภัยทำได้หลายแนวทาง เช่น การสร้างแนวป้องกันทางทะเลและชายฝั่งเพื่อลดพลังงานของพายุ การสร้างกำแพงป้องกันคลื่น การปลูกป่าชายเลน ซึ่งถือว่าเป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติ
ภัยจากสตอมเสิร์ทเป็นภัยที่สามารถรู้ได้ล่วงหน้าโดยหน่วยงานรับผิดชอบอย่าง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ สามารถคาดการณ์และเตือนภัยล่วงหน้าแก่ พื้นที่เสี่ยงภัยได้ก่อน ในระยะเวลา 5-7 วัน ทำให้สามารถ เตรียมตัวรับมือจากเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสตอมเสิร์ทได้ เมื่อเกิดสตอมเสิร์ทขึ้นประชาชน ในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องไม่ตื่นตระหนก และให้ดำเนินการตามแผนอพยพของของหน่วยกู้ภัย ในพื้นที่ และหากอยู่ในทะเล ปกติ หากอยู่ในทะเล แล้วเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง ให้รีบนำเรือไปหลบคลื่นในบริเวณที่อับลม หรือบริเวณพื้นที่ที่ปลอดภัยทันที
สตอมเสิร์ทเป็นภัยธรรมชาติที่มีมานานไม่ใช้เรื่องใหม่ที่น่าตระหนกจนเกินควรประกอบกับมในปัจจุบันวิทยาการที่ก้าวหน้า ส่งผลให้เราสามารถรับมือกับภัยพิบัติดังกล่าวได้ดีกว่าเก่าก่อนอย่างเช่นโศกนาฎกรรมที่แหลมตะลุมพุก หรือพายุเกย์
สตอมเสิร์ทเป็นผลพวงจากความบ้าคลั่งของวาตภัยซึ่งเราอาจจะต้องเผชิญกับมันได้ทุกเมื่อดังนั้นการเรียนรู้ทำความเข้าใจ และ ปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็คงจะพอลดทอนความเสียหายลงได้
แน่นอนว่าภัยชนิดนี้จะมีมาพร้อมกับการพัดโหมกระหน่ำอย่างบ้าคลั่งของวาตภัย แม้การเกิดพายุอและก่อนที่ลมพายุจะพัดเข้าหาฝั่ง มนุษย์เราสามารถจะทำนายได้นั้น แต่ผลตามมาที่แน่ชัดคือสารพังทลายของสิ่งก่อสร้างอยู่แถบชาติฝั่ง หรือแม้จะอพยพหลบลี้ได้ทันก็ตาม ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญทางภัยธรรมชาติมองว่า ภัยจากสตอมเสิร์ทจะส่งรุนแรงกว่าภัยจากซึนามิ แม้ภัยจากซึนามิสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีสัญญาณเตือน แต่การที่ลมพายุเกิดขึ้นทำให้สภาพภูมิอากาศแปรปรวนและเลวร้ายนั้นย่อมสร้างความเสียหายได้มากกว่า
(ที่มา:https://www.youtube.com/watch?v=uj3tih6anDE&list=PLgm36wXFlxy9azSISHpQUN9x0pixpRbL7)
ที่มา:http://www.vcharkarn.com/varticle/38206
ที่มา:http://www.vcharkarn.com/varticle/38206
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น